จำนวนผู้เยี่ยมชม

วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้.....

จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกสหกิจศึกษา ของ นิสิต เอกเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคต้น ปีการศึกษา 2553

ปรัชญาของหลักสูตรเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาพึงพัฒนาการศึกษา บูรณาการทรัพยากรการเรียนรู้เทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษาด้วยวิธีระบบ และเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ควบคู่คุณธรรม

วิสัยทัศน์ของ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ต้องรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นผู้รู้จริงและปฎิบัติงานได้ในระดับสากล โดยมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับการนำไปประยุกต์ การสร้าง การใช้งาน การบำรุงรักษา สามารถนำผลการวิจัยเพื่อพัฒนาตลอดจนแก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้

นิสิตรับรางวัลประกวดสื่อ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บรรยายกาศการจัดโครงการปฐมนิเทศการฝึกสหกิจศึกษา


ห้อง Chat Room สหกิจศึกษา

ประกาศ

ตามที่มีนิสิตโทรมาสอบถามอาจารย์หลายครั้งเกี่ยวกับการทำโปรเจค หรือ โครงการ หรือวิจัยก่อให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก ขออนุญาตประกาศเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายดังนี้
1. โครงการที่สามารถจะจัดทำได้มีดังนี้
1.1 งานประจำซึ่งทำเป็นเล่มลักษณะรุ่นพี่ปีที่ผ่านมา โดยยึดถือตามแบบฟอร์มที่อาจารย์มานิตย์ บรรยายดังที่อาจารย์อัพเดทในบล็อกให้ดู
1.2 โครงการหรืองานวิจัย ซึ่งทำตามลักษณะของงานวิจัย 0503405 ที่ได้ทำมาแล้ว
1.3 สถิติหรือคู่มือ
2. ในเรื่องการทำโปรเจคนี้ในนิสิตแต่ละสายโทรหรือปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้แต่งตั้งแล้วนั้นเท่านั้น การตัดสินของอาจารย์ที่ปรึกษาตามที่ได้แต่งตั้งถือเป็นที่สิ้นสุด

จึงประกาศมาให้ทราบ

หมายเหตุ ทำไมแบบฟอร์มสไลด์ต่างๆก็อัพโหลดให้หมดแล้วในบล็อกนี้ ปฐมนิเทศก็ปฐมนิเทศให้แล้วเวลาถามว่าไม่เข้าใจตรงไหนก็ไม่เห็นมีใครยกมือถาม จึงถือว่าเข้าใจดี

ถ้ากระบวนการฝึกสหกิจศึกษาครบตามกระบวนการแล้วนิสิตท่านใดไม่สามารถส่งเอกสารได้ครบและครบถ้วนตามการปฐมนิเทศ ถือว่านิสิตไม่มีความรับผิดชอบและถือว่าไม่ผ่านการฝึกสหกิจศึกษา

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ความหวัง" กับ "ความสำเร็จ" (Hope to success)


ไม่รู้ว่าพวกเราได้อ่านข้อเขียนนี้บ้างแล้วรึยังนะครับ ผมเขียนเผยแพร่เอาไว้ในมัลติพาย เมื่อปี 2551 ตามประสาคนที่กำลังคิดถึงความหลัง และนำมาเล่าขานเพื่อให้พวกเราได้มีกำลังใจในวันที่จะมาถึง ขอนำมาเผยแพร่อีกรอบครับ


ผมถ่ายภาพนี้ จากงานพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2551 ในขณะที่ บัณฑิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต กำลังทยอยเดินออกจากหอประชุมหลังเสร็จพิธี ท่ามกลางการรอคอยต้อนรับจากพี่ๆ น้องๆที่เนืองแน่นอยู่สองข้างทาง


ในขณะที่อากาศวันนี้ค่อนข้าง ร้อน แต่การรอคอยด้วยความหวังที่พบหน้าคนที่ตนรัก ในการที่ร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จของเขาเหล่านั้น เป็นความรู้สึกที่ผมอดที่จะเขียนถึงไม่ได้ เช้าตรู่วันที่ 23 ธันวาคม 2551 พื้นที่โดยรอบอาคารพละศึกษา ถูกจับจองโดยพี่น้องประชาชน จำนวนมาก ตั้งแต่หกนาฬิกา สถานที่แห่งนี้ก็คราคร่ำไปด้วยผู้คน ในการที่รอเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปี 2551 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์มีต่อพี่น้องชาวมหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียง


ถ้าพูด ในแง่ของเศรษฐกิจ แล้วนับได้ว่า งานพระราชทานปริญญาบัตร มีส่วนทำให้จังหวัดมหาสารคามของเรา คึกคักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร การขนส่ง ดอกไม้ ของที่ระลึก ฯลฯ สภาพการจราจรในตัวเมือง หนาแน่นกว่าทุกวัน ตั้งแต่ช่วงซ้อมมาแล้ว ด้วยผู้คนจำนวนมากต่างก็ได้มุ่งตรงเดินทางมาเพื่อร่วมงานอันทรงเกียรตินี้

"ความ รู้สึกภาคภูมิใจ" กับคนที่สำเร็จการศึกษา ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะมาร่วมงานและแอบชื่นชมในความสำเร็จ ไม่ได้ ปีนี้สาขาวิชา เทคโนโลยีการศึกษา, เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ของเรา ก็มีบัณฑิตทีสำเร็จการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในระดับปริญญาโท และปริญญาตรี จำนวน ร้อยกว่าคน โดยเฉพาะบัณฑิตระดับปริญญาตรี มีจำนวน 8 คน นับได้ว่า เป็นความสำเร็จครั้งแรกของสาขานี้ เนื่องเพราะบัณฑิตทีจบในปีนี้ เป็นรุ่นแรก ของรอบหลายปีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ของภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และที่สำคัญ เป็นการจบการศึกษา ในระยะเวลา สามปีครึ่ง ผมคิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่อาจจะบันทึกเอาไว้ว่า เป็นสาขาที่สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ สาขาแรก ที่สามารถจบได้ในสามปีครึ่ง

ผม อาจจะแอบคิดไปเอง ด้วยอาจไม่มีข้อมูล แต่ในความสำเร็จครั้งนี้ อาจารย์ในภาควิชา ต่างก็รู้สึกดีใจกับบัณฑิตไม่น้อย ในกระบวนการผลิตแล้ว ผมซึ่งมีส่วนอยู่บ้าง ในความเห็นของผม นับได้ว่ากระบวนการผลิตของเราก็ไม่ได้เป็นที่น้อยหน้าแต่อย่างใด เราเน้นกระบวนการสร้างด้วยชิ้นงาน และด้วยกระบวนการวิจัย

นิสิต ที่ผ่านกระบวนการผลิตทุกคนจะต้องออกฝึกงาน สองครั้ง และที่โดดเด่นคือต้องออกฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน หรือสถานศึกษา อีกสองครั้งด้วยกัน นั่นหมายความว่า เรามีรายวิชาที่จะต้องฝึกประสบการณ์ถึงสี่รายวิชา ทั้งฝึกประสบการณ์ระยะสั้น ระยะยาว ในสถานประกอบการ และในสถานศึกษา เรียกได้ว่า เป็นการเตรียมบัณฑิตให้สามารถทำงานได้ทั้งในสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา ด้วยพร้อมกัน

และในระหว่างฝึกประสบการณ์ จะต้องมีการพัฒนาชิ้นงาน ลักษณะการผลิตชิ้นงาน เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ซึ่งเน้นพัฒนาด้วยโปรแกรม ต่างๆ บทเรียนออนไลน์ ที้เน้นการออกแบบ ตามหลักการ ทฤษฎี ที่ใช้บนระบบจัดการการเรียนการสอน และการผลิตวีดีทัศน์ ประกอบการสอน หรือสื่อช่วยสอน การผลิตสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งเน้นการผลิตชิ้นงานรูปแบบดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการฝึกประสบการณ์ในรายวิชานั้นๆ ซึ่งนิสิตจะต้องผ่านการสอบ ก่อนการออกฝึก และสอบหลังการฝึกฯ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบรูปแบบ และรูปเล่ม จนสำเร็จและสามารถนำเสนอได้

จากการสังเกตอย่างน้อยนิสิต ของเราก็พอที่จะทำบทเรียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในโลกยุคดิจิทัลได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นจากการออกนิเทศ ติดตาม เราพบว่า นิสิตของเราสามารถแบ่งเบาภาระ และสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษา ระดับต่างๆได้เป็นอย่างดี และในสถานประกอบการ เช่น บริษัทผลิตสื่อ และผลิตโปรดักชั่นต่างๆ ก็ให้การยอมรับและชื่นชมในนิสิตของเรา ถึงกับเอ่ยปากชมก็มี

ในแง่ของความยืดหยุ่นของหลักสูตร นิสิตสามารถเลือกเรียนแบบเอกเดี่ยว หรือเอก-โท ได้ นิสิตรุ่นที่ 1 ส่วนใหญ่ได้เลือกรูปแบบ เอก-โท และสามารถจบในระยะเวลาน้อยกว่าสี่ปีได้ ดังที่ปรากฎในปีการศึกษานี้ และที่สำคัญคือ หลักสูตรนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง วิชาชีพครูและวิชาชีพด้านเทคโนโลยีการศึกษา ดังนั้นวิชาชีพครูที่ นิสิตครูห้าปีเรียน นิสิตสาขาเทคโนฯก็เรียนด้วยเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า วิชาชีพครูที่บังคับหรือเลือกสำหรับครู ที่จะสามารถนำไปขอใบประกอบวิชาชีพได้ นิสิตสาขาเทคโนฯก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ในอนาคตหากมีการผลักดันให้สถานศึกษาต้องมีนักเทคโนฯ อยู่ประจำ นิสิตเหล่านี้สามารถขอใบประกอบวิชาชีพและสามารถทำงานในโรงเรียนได้ เพราะเรียนรายวิชาที่ปรากฎในหลักสูตรที่เป็นวิชาชีพครู เช่นเดียวกับหลักสูตรครูห้าปี

ถึงแม้ว่าเราจะขาดเครื่องไม้เครื่อง มืออยู่บ้าง แต่ในปีการศึกษาใหม่ เราได้รับการสนับสนุนในการสร้างห้องปฏิบัติคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียใหม่ และห้องปฏิบัติการโทรทัศน์ใหม่ ด้วยงบประมาณกว่าสองล้านบาท อันจะทำให้การเรียนการสอนราบรื่นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การจัดการเรียนการสอนได้มุ่งผลิตผู้เรียนในลักษณะ "ดิจิทัลเลิร์นเนอร์" เน้นการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การฝึกปฏิบัติผ่านคอมพิวเตอร์ ด้วยตัวของนิสิตเอง เพราะเราเชื่อว่า ดิจิทัลเลิร์นเนอร์ สามารถเรียนรู้การใช้เครื่องมือในโลกดิจิทัลได้ด้วยการฝึกและศึกษาด้วยตนเอง ผ่านการลองผิดลองถูก และการเรียนรู้ผ่านชุมชนการเรียนรู้ (Community of learner) นิสิตที่จะเรียนสาขานี้จึงจำเป็นต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ผ่านสือ เครือข่ายและอินเทอร์เน็ต และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้เป็นของตนเอง

ในระหว่างการศึกษา ภาควิชาได้ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการจัดทัศนะศึกษา ดูงาน สถานประกอบการ แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ มีการจัดอบรมเข้ม ในการฝึกปฏิบัติการโปรแกรม จากหน่วยงานของมหาวิทยาลัย การฝึกเตรียมการทำโครงการประกอบการฝึกงาน ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีแหล่งเรียนรู้ ห้องสมุด และงานวิจัยในสาขา จำนวนมาก นิสิตสามารถเรียนรู้จากการอ่านเอกสาร งานวิจัย ผ่านระบบเครือข่ายภายใน ภายนอกมหาวิทยาลัยได้

แม้ว่าที่เขียนมาอาจเป็นการกล่าวอ้างเกินไป บ้าง และอาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ในความเป็นจริง ย่อมมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ปนกันไป แน่นอนว่าย่อมไม่มีอะไรที่ดีพร้อมทุกอย่าง แต่ในสถานการณ์และความเป็นไปได้ เราได้แต่คาดหวังว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถพัฒนานิสิตของเราได้

และเราก็คาดหวังเหลือเกินว่า บัณฑิตที่จบจากเราไป จะสามารถเป็นพลังในการผลักดัน พัฒนาการศึกษา พัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไป เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งสถาบันการศึกษาคู่เมืองสารคาม เป็น"ความคาดหวัง และความสำเร็จ" ของพวกเราสืบไป

แล้วพวกเราจะรอชื่นชมความสำเร็จของนิสิตปัจจุบันกันนะครับ

มานิตย์

1 ความคิดเห็น: